ต้นตะเคียนทอง
ตะเคียนทอง ชื่อสามัญ Iron wood, Malabar iron wood, Takian, Thingan, Sace, Takian
ตะเคียนทอง ชื่อวิทยาศาสตร์ Hopea odorata Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ยางนา (DIPTEROCARPACEAE)
สมุนไพรตะเคียนทอง มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า ตะเคียน ตะเคียนทอง ตะเคียนใหญ่ (ภาคกลาง), จะเคียน (ภาคเหนือ), แคน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ), ไพร (ละว้า เชียงใหม่), กะกี้ โกกี้ (กะเหรี่ยง เชียงใหม่), จูเค้ โซเก (กะเหรี่ยง กาญจนบุรี), จืองา(มลายู-นราธิวาส) (บางข้อมูลระบุมีชื่ออื่นว่า กากี้, เคียน) เป็นต้น
ไม้ต้น ขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูง 20 - 40 เมตร ลำต้นเปล่าตรง เปลือก หนาสีน้ำตาล มีชันสีเหลืองเกาะตามเปลือก ทั่วไป ต้นเล็กเปลือกจะเรียบ แต่เมื่อเป็นต้นใหญ่เปลือกจะแตกเป็นสะเก็ด เรือนยอดเป็นพุ่มทึบกลมหรือรูปเจดีย์ต่ำ ๆ
ใบ เป็นใบเดี่ยวออกสลับ รูปไข่แกมรูปหอกหรือรูปดาบ ท้องใบจะมีตุ่มคอมเมเซียเกลี้ยง ๆ อยู่ตามง่ามแขนงใบ
ดอก ดอกเล็กสีขาว ออกเป็นช่อยาว ๆ ตามง่ามใบและปลายกิ่งกลิ่นหอมก้านดอกและกลีบรองกลีบดอกมีขนนุ่มกลีบดอก มีอย่างละ 5 กลีบโคนกลีบเชื่อมติดกัน
ผล กลมหรือรูปไข่เกลี้ยงขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.6 ซม ยาว 1 ซ.ม ปีกยาว หนึ่งคู่รูปใบพาย ปีกสั้นมีความยาวไม่เกินความยาวตัวผล
นิเวศวิทยา ขึ้นได้ดีตามที่ราบลุ่มและชุ่มชื้น ใกล้ริมน้ำในป่าดงดิบทั่วไปในประเทศ ออกดอก มกราคม - มีนาคม ผลแก่ กุมภาพันธ์ - เมษายน ขยายพันธุ์ โดยเมล็ด เด็ดปีกเมล็ดก่อนเพาะ
วิธีปฏิบัติต่อเมล็ดและการเพาะเมล็ด เด็ดปีกก่อนนำไปเพาะ
ข้อสังเกตและผลการทดลอง
1. เมล็ดจะงอกใช้เวลา 7 วัน
2. เวลาประมาณ 8 เดือน ต้นกล้าจะมีความสูงระมาณ 35 ซม. สามารถย้ายปลูกได้
ประโยชน์ เนื้อไม้มีความทนทาน ทนปลวกได้ดี ไสกบตบแต่งและชักเงาได้ดี ใช้ประโยชน์ได้อย่างกว้างขวาง ใช้ทำเครื่องเรือน สะพาน ทำเรือ วงกบประตูหน้าต่าง ชันใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ทำน้ำมันชักเงา ใช้ยาเรือ