top of page

ต้นข่อย

ชื่อสามัญ Siamese rough bush, Tooth brush tree

ข่อย ชื่อวิทยาศาสตร์ Streblusasper Lour. จัดอยู่ในวงศ์ขนุน (MORACEAE)

สมุนไพรข่อย มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า ตองขะแหน่ (กาญจนบุรี), ส้มพอ (เลย ร้อยเอ็ด), ซะโยเส่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), กักไม้ฝอย (ภาคเหนือ), สะนาย(เขมร), สมนาย เป็นต้น

ลักษณะของต้นข่อย

ต้นข่อย มีถิ่นกำเนิดแถวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และในประเทศไทย โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 5-15 เมตร ลำต้นและกิ่งก้านค่อนข้างคดงอ มีปุ่มปมอยู่รอบ ๆ ต้นหรือเป็นพูเป็นร่องทั่วไป ซึ่งอาจจะขึ้นเป็นต้นเดียวหรือเป็นกลุ่ม เปลือกต้นมีสีเทาอ่อน บาง ขรุขระเล็กน้อยแตกเป็นแผ่นบาง ๆ และมียางสีขาวข้นเหนียวซึมออกมา แตกกิ่งก้านมีสาขามาก แตกกิ่งต่ำเป็นพุ่มทึบ และนิยมขยายพันธุ์ด้วยการใช้รากปักชำ เพราะจะเจริญเติบโตได้เร็วกว่าการใช้กิ่งปักชำหรือการเพาะเมล็ด

ใบข่อย ลักษณะเป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ มีขนาดเล็ก แผ่นใบมีสีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนากรอบ ผิวใบสากคล้ายกระดาษทรายทั้งสองด้าน ลักษณะใบคล้ายรูปรีแกมรูปไข่หัวกลับ โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบหยัก มีความกว้างประมาณ 2-3.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 4-7 เซนติเมตร

ดอกข่อย ออกดอกเป็นช่อ มีสีขาวเหลืองอ่อน โดยจะออกปลายกิ่งตามซอกใบ ดอกเดี่ยวแต่รวมกันเป็นกระจุก ดอกเพศผู้และดอกเพศเมียจะอยู่ต่างดอกกัน

ผลข่อย ผลสดมีลักษณะกลมสีเขียว ผลคล้ายรูปไข่ มีขนาดประมาณ 0.5 เซนติเมตร เมล็ดมีขนาดโตเท่ากับเมล็ดพริกไทยมีเนื้อเยื่อหุ้ม ส่วนผลแก่จะมีสีเหลืองใสและมีรสหวาน และเป็นที่ชื่นชอบของพวกนกเป็นอย่างมาก

สรรพคุณของข่อย

1.มีสรรพคุณช่วยบำรุงธาตุในร่างกาย (เปลือก)

2.รากเปลือกใช้เป็นยาบำรุงหัวใจ (รากเปลือก)

3.เมล็ดสามารถนำมารับประทานเป็นยาอายุวัฒนะได้ ช่วยทำให้เจริญอาหาร(เมล็ด)

4..เปลือกเมื่อนำมาต้มกับเกลือจะได้เป็นยาอมช่วยแก้รำมะนาดได้ (เปลือก)

5.เปลือกต้นช่วยแก้ริดสีดวงที่จมูก ด้วยการใช้เปลือกต้นนำมาม้วนทำเป็นยาสูบ (เปลือกต้น)

6.กิ่งสดช่วยทำให้ฟันทนแข็งแรง ฟันไม่ผุ ไม่ปวดฟัน ด้วยการใช้กิ่งสดประมาณ 5-6 นิ้วฟุตนำมาหั่นแล้วต้มใส่เกลือ เคี่ยวให้งวด เหลือน้ำแค่ครึ่งเดียว นำมาอมเช้าและเย็น (กิ่งสด)

7.เมล็ดช่วยฆ่าเชื้อในช่องปากและทางเดินอาหารได้ ด้วยการใช้เมล็ดรับประทานและต้มน้ำอมบ้วนปาก (เมล็ด)

8.ช่วยแก้ไข้ด้วยการใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำแล้วรับประทาน

9.ข่อยมีสรรพคุณช่วยดับพิษภายในร่างกาย (เปลือก)

10.สรรพคุณข่อยช่วยแก้อาการท้องร่วง (เปลือก)

11.ช่วยแก้อาการบิด แก้ท้องเสีย ด้วยการใช้เปลือกนำมาต้มกับน้ำแล้วรับประทาน (เปลือก)

12.ใบข่อยสด ๆ นำมาปิ้งไฟชงกับน้ำดื่ม ใช้เป็นยาระบายอ่อนๆ ได้

13.ช่วยขับลมในลำไส้ (เปลือก, เมล็ด)

14.เปลือกใช้ทาริดสีดวง (เปลือก)

15.ช่วยรักษาแผลได้ (เปลือก, ราก)

16.ชวยรักษาโรคผิวหนังได้ (เปลือก)

17.ช่วยฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ (เปลือก)

18.ช่วยแก้พยาธิผิวหนัง (เปลือก)

19.ใบข่อยมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการปวดของมดลูกในระหว่างมีประจำเดือน ด้วยการนำใบมาคั่วให้แห้งแล้วชงกับน้ำดื่ม (ใบ)

20.เนื้อและแก่น ชาวเชียงใหม่ใช้แก่นข่อยนำมาหั่นเป็นฝอยแล้วมวนเป็นบุหรี่ไว้สูบเพื่อแก้ริดสีดวงที่จมูก (เนื้อ, แก่น,เปลือกต้น)

ประโยชน์ของข่อย

1.ยางมีน้ำย่อยที่ชื่อว่า milk (lotting enzyme) มีประโยชน์ในการช่วยย่อยน้ำนม

2.กิ่งข่อยสามารถนำมาใช้แปรงฟันแทนการใช้แปรงสีฟันได้และยังทำให้ฟันแข็งแรงอีกด้วย แต่ต้องนำมาทุบให้นิ่ม ๆก่อนนำมาใช้

3.ยางสามารถนำมาใช้กำจัดแมลงได้

4.ไม้นำมาใช้ทำกระดาษ ทำเป็นสมุดไทยหรือสมุดข่อยได้

5.เปลือกนำมาใช้ทำปอหรือใช้ทำเป็นกระดาษได้

6.นิยมปลูกเพื่อทำรั้ว หรือปลูกไว้เพื่อดัดปรับแต่งเป็นรูปต่างๆ ที่เรียกว่าไม้ดัด (ต้นข่อยดัด)

7.คนไทยโบราณเชื่อว่าหากบ้านใดปลูกต้นไม้ชนิดนี้ไว้ประจำบ้าน จะทำให้ผู้อาศัยเกิดความมั่นคง มีความแข็งแกร่งอดทนได้ดีเยี่ยม ช่วยป้องกันศัตรู แคล้วคลาดจากอันตรายที่เกิดจากผู้ที่ไม่หวังดีหรือศัตรูที่อาจมาทำอันตรายต่อสมาชิกในบ้าน และใบข่อยยังนำมาใช้โบกพัดเพื่อขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้พ้นไปจากบ้านได้อีกด้วย และเพื่อความเป็นสิริมงคลจะนิยมปลูกต้นข่อยในวันเสาร์และปลูกไว้ทางทิศตะวันออก

8.นอกจากนี้ต้นข่อยเป็นวัสดุที่ใช้ในการสื่อสารที่สำคัญในอดีตหรือที่เรียกกันว่า "สมุดข่อย" เพราะเนื้อไม้มีความแข็งแรงคงทน

bottom of page