top of page

ต้นกระเบา

กระเบา ชื่อสามัญ Chaulmoogra ปัจจุบันถูกจัดอยู่ในวงศ์ ACHARIACEAE

 

สมุนไพรกระเบา มีชื่อท้องถิ่นอื่นๆ ว่า กระเบา กระเบาน้ำ กระเบาข้าวแข็ง กระเบาข้าวเหนียว กระตงดง (เชียงใหม่), ดงกะเปา (ลำปาง), กระเบาใหญ่ (นครราชสีมา), หัวค่าง (ประจวบคีรีขันธ์), เบา (สุราษฎร์ธานี), กุลา กาหลง (ปัตตานี), มะกูลอ (ภาคเหนือ), กระเบาเบ้าแข็ง กระเบาใหญ่ กาหลง แก้วกาหลง (ภาคกลาง), เบา (ภาคใต้), กระเบาตึก (เขมร), ตัวโฮ่งจี๊ (จีน), ต้าเฟิงจื่อ (จีนกลาง) เป็นต้น

ต้นกำเนิดกระเบา 

กระเบาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปเอเชีย แถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริเวณประเทศ พม่า , ไทย , ลาว ,กัมพูชา , มาเลเซีย และมีการกระจายพันธุ์ไปยับบริเวณใกล้เคียง โดยจะสามารถพบได้ตามเขาหินปูน ป่าดิบ และตามชายป่าริมน้ำทั่วไป ที่มีความสูงไม่เกิน 1300 เมตร จากระดับน้ำทะเล สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ

ลักษณะทั่วไปกระเบา

กระเบาจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ประมาณ 10-20 เมตร ลำต้นเปลาตรง รูปทรงสูงโปร่ง ไม่ผลัดใบ เปลือกลำต้นเรียบเป็นสีเทา หรือเทาดำ ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับออกตามกิ่งโดยจะออกหนาทึบ ใบเป็นรูปหอกแกมรูปขอบขนาน ปลายใบแหลมสอบเรียว โคนใบสอบหรือมน ขอบใบเรียบ เนื้อใบแข็งกรอบ เป็นสีเขียวเข้ม หลังใบเป็นมัน ส่วนท้องใบไม่เป็นมัน และมีสีอ่อนกว่ามีเส้นแขนงใบเห็นได้ชัด ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตรและยาวประมาณ 8-20 เซนติเมตร  ดอกจะเป็นชนิดแยกเพศอยู่ต่างต้นกัน โดยดอกตัวผู้จะออกแบบเดี่ยวๆ ตามซอกใบซึ่งลักษณะดอกจะมีกลีบเลี้ยง 5 กลีบและมีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั้งสองด้าน  ซึ่งกลิ่นของดอกตัวผู้ของกระเบาใหญ่จะหอมมาก เรียกกันว่า “แก้วกาหลง” และมีความยาวของก้านดอกประมาณ 1.5-3 ซม. ส่วนดอกตัวเมียจะออกตามซอกใบเป็นช่อสั้นๆ โดยแต่ละช่อจะมีดอกย่อย 5-10 ดอก มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกเหมือนดอกตัวผู้ แต่บริเวณตรงปลายเกสรตัวเมียจะมี 5 แฉก บริเวณรังไข่เป็นรูปไข่กับและจะมีขนสั้นๆ คลุมอยู่  ผลเป็นรูปทรงกลม ผลมีขนาดกว้างประมาณ 6-12 เซนติเมตร ผิวเรียบเปลือกผลหนาแข็งเป็นสีน้ำตาล ผิดผลมีขนสั้นๆคล้ายกำมะหยี่สีน้ำตาลคลุมอยู่ ในเนื้อผลเป็นสีขาวอมเหลือง มีเมล็ดสีดำอยู่ประมาณ 30-50 เมล็ด ส่วนเมล็ดมีลักษณะรูปรีหรือรูปไข่เบี้ยว ปลายมนทั้งสองข้าง กว้างประมาณ 1-1.5 เซนติเมตรและยาวประมาณ 1.5-2 เซนติเมตร

ประโยชน์และสรรพคุณกระเบา

1.แก้เสมหะเป็นพิษ

2.ช่วยดับพิษทั้งปวง

3.รักษาบาดแผลต่างๆ

4.ใช้ฆ่าพยาธิผิวหนัง

5.ใช้รักษาแผลสด

6.ใช้ฆ่าพยาธิบาดแผล

7.รักษากลากเกลื้อน

8.แก้มะเร็ง

9.แก้คุดทะราด

10.แก้โรคเรื้อน

ข้อแนะนำและข้อควรระวัง

เมล็ดกระเบาส่วนมากในตำรายาต่างๆ จะนำมาใช้เป็นยาภายนอก แต่หากต้องการใช้ผสมกับตำราอื่นเพื่อรับประทาน จะต้องมีวิธีการกำจัดพิษในเมล็ดก่อนที่จะนำมาใช้ โดยผู้เชี่ยวชาญหรืออาจหาซื้อตามร้านค้าที่เชื่อถือได้และได้รับอนุญาตจาก อย. และห้ามที่สำคัญรับประทานเกินจากขนาดที่กำหนด

น้ำมันกระเบาได้จากการบีบเมล็ด ห้ามนำมาใช้โดยไม่ผ่านความร้อนเนื่องจากมีสารไซยาไนต์ซึ่งเป็นพิษต่อกล้ามเนื้อ ระบบประสาท และถึงแก่ความตายได้หากรับประทานเป็นจำนวนมาก

เด็กสตรีมีครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่องก่อนจะใช้กระเบาเป็นสมุนไพรสำหรับบำบัดรักษาโรคต่างๆ ตามตำรับตำรายาต่างๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้เสมอ

bottom of page